040 ธรรมปัจเวกขณ์
ประจำวันที่ -- สิงหาคม ๒๕๒๖

ขอให้เราได้พิจารณาถึงสภาพจิต ที่เราจะเอาไปใช้ ปรับปรุงตน คือ เราจะระลึกถึง ความเบิกบาน ระลึกถึงความสุขุม ระลึกถึงความอ่อนโยน และระลึกถึง ความคล่องแคล่ว

คำว่าเบิกบาน ก็คือคำว่า ไม่หม่นหมอง ไม่หดหู่ ไม่หรี่ ไม่หลบ เป็นความเบิกบาน บานนี่มันไม่หลบหรอก บานนี่มันเปิด เบิกบานน่ะ

เราจะต้องเป็นผู้ที่ ประจัญอยู่กับธรรมชาติ ประจันประจญพบ สัมผัสสัมพันธ์ อยู่กับธรรมชาติ เรียกว่า ไม่หรี่ ไม่หลบ ไม่หดหู่ หรือไม่หม่นหมองเลย สะอาดสะอ้านอยู่ เป็นความสดชื่น สิ่งเหล่านี้ เราจะต้อง พยายามทำให้ตนมี แม้กระทั่ง การเบิกบานใจ เป็นตัวปรมัตถ์แท้ ในเรื่องร่างกาย ในเรื่องรูป สี อะไรต่ออะไร ข้างนอกนั้น ไม่มีปัญหาอะไรมาก คนเราถ้าเผื่อว่า หน้าตาเบิกบาน ใจเบิกบาน สิ่งเหล่านี้ คุ้มได้หมด ไม่ว่าเสื้อผ้า หน้าแพร ไม่ว่าอยู่ในสถานที่อะไร ยิ่งอยู่ในสถานที่ ที่อับเฉามืดมัว ถ้าสิ่งที่มันมีบาน เบิกบานแล้ว สิ่งนั้นยิ่งขับเด่น ไม่มีปัญหาอะไรเลย ยิ่งอยู่ในหมู่เบิกบาน มันก็พากัน บานไปพร้อมพรั่ง

สภาพของสุขุม สุขุมนั้นก็คือ นัยที่มันตรงกันข้าม ก็เป็นนัย ที่มันไม่หยาบต่ำ สุขุมนี่ ไม่หยาบต่ำ ไม่รุนแรง ไม่วู่วาม ประณีต เป็นอย่างนั้น เราจะพยายาม พิจารณาให้มั่น ว่าเราทำอะไร กรรมอะไร กิริยาอะไร เป็นอย่างไร อยู่ก็ตาม เราจะต้องพยายาม ฝึกความสุขุม ไม่หยาบต่ำ ไม่รุนแรง และไม่วู่วาม ต้องมีให้ได้

ขณะนี้พวกเรา มีงานมากขึ้นแล้ว เราเอง เราควบคุมจิตไม่ได้ เมื่อควบคุมจิต ก็จิตมันก็ไปสั่งกาย สั่งวจีไม่ได้ ยิ่งเราไม่เรียนรู้ สภาพสุขุมเป็นอย่างไร ความหมายว่า หยาบต่ำเป็นอย่างไร รุนแรงเป็นอย่างไร วู่วาม เป็นอย่างไรน่ะ แม้จะไม่ประณีต หรือว่าจะให้ประณีต เราเองเราก็จะต้องศึกษา แล้วก็พยายามจัดแจง จัดทำเรื่อยๆ เราจึงจะไปสู่สภาพ ความสุขุมได้

ทีนี้เรื่องอ่อนโยน สิ่งที่ตรงกันข้ามกับ ความอ่อนโยน ก็คือ หรือว่า สภาพของขยายความ อ่อนโยน ก็คือคำว่า ไม่กระด้าง ถ้าความแข็งกระด้าง อันนั้น มันไม่อ่อนโยน เพราะฉะนั้น ต้องไม่แข็งกระด้าง ไม่ดื้อดึง ไม่ยึดตาย ถ้าเผื่อว่า ยึดตายแล้วนะ มันก็เป็นอย่างไม้ ไอ้ที่ตายแล้วนี่ แข็งกระโด๊กเลย แล้วมันก็ โด๋เด๋ๆอยู่อย่างงั้นแหละ มันอ่อนไม่เป็น ถ้าไปงอมัน มันหักเลย ไม้ที่ตายแล้ว ยึดตาย ก็นัยคล้ายกัน ถ้าผู้ใดยึดตายนะ ก็คือ ความยึดมั่นถือมั่น ยึดตายจนไม่รู้ว่า อยู่ในสังคม เขาจะเป็นอย่างไร จะต้องจัดแจง เปลี่ยนแปลง

ในนัยของมนุษย์ อุปนิสัยจิตใจมนุษย์ ก็คือดื้อดึง ดื้อดึงนี่ไม่อ่อนโยนแล้ว แข็งกระด้าง เพราะฉะนั้น ท่าทีเหล่านี้ มันก็จะทำให้ผู้นั้น มีท่าทีแข็งกระด้าง ไม่ง่ายเลย ที่จะรู้ท่าที แข็งกระด้าง ของคนนี่ มันแข็งกระด้าง อยู่ในความอ่อนก็ได้ แข็งกระด้างอยู่ในความแข็งน่ะ มันไม่ใช่จะรู้ง่าย เพราะว่า มันเป็นเรื่องของ กิริยา พฤติกรรม ลีลาท่าทีของมนุษย์ ตามกาละ ตามเทศะ ตามสิ่งประกอบ ไม่เหมือนกัน แต่ละเทศะ แต่ละผู้ แต่ละบุคคล ขณะนี้ เราทำท่าทีอย่างนี้ กับคนฐานะนี้ กับคนคนนี้ เรารู้สึกว่า อันนี้ เราทำดีแล้ว แต่ที่จริงไม่ดี แข็งกระด้าง เราทำกับคนๆนี้ คนนี้ทำดีแล้ว ไม่แข็งกระด้าง แต่เราจะเอา กรรมกิริยาอย่างนี้ ไปทำกับอีกคน อีกคนหนึ่ง ฐานะหนึ่ง ไม่ได้แล้วน่ะ อ่อนไป หรืออะไร อย่างนี้เป็นต้น ถ้าทำอย่างนี้ ดีแล้ว ไม่แข็งกระด้างกับคนๆนี้ จะเอาท่าทีนี้ ไปทำกับอีกคนๆหนึ่ง ไม่ดีหรอก แข็งกระด้าง อย่างนี้ พวกนี้มันมีสิ่งประกอบ มีองค์ประกอบ ซึ่งจะต้องเรียนรู้ สุขุม ประณีต จนกระทั่งไปถึง เห็นสภาพ ที่อ่อนโยน ปรับปรุงได้ ไม่แข็งกระด้าง ไม่ดื้อดึง จะต้องเป็นผู้ปรับปรุง อยู่เรื่อยๆน่ะ ไม่ยึดตาย จนกระทั่ง ยึดมั่นถือมั่น นึกว่านั่นคือ ความสมบูรณ์ ความสูงสุด ความดีสุดแล้ว ถ้าอย่างนั้น ก็แก้ไม่ได้เลย สำหรับ คนๆนั้นนะ

แล้วเราจะต้องเป็นคนคล่องแคล่ว ไม่อืดอาด ไม่เฉื่อยเนือย โดยเฉพาะที่สุด ก็เข้าไปหาเป้าขี้เกียจ จะต้องไม่ขี้เกียจ เป็นที่สุด เมื่อไม่ขี้เกียจแล้ว เราก็จะต้อง กระปรี้กระเปร่า เราจะต้องแคล่วคล่อง เราจะต้อง มีกะจิตกะใจ เราจะต้องวิริยะ อุตสาหะ ฝึกเพียร จนทุกอย่าง มันดูง่าย ดูเบา ดูสะดวกไปทั้งสิ้น สะดวกทั้งการงาน ที่เราทำไม่ค่อยเป็น มันก็ง่าย มันก็สะดวก สะดวกทั้ง การที่จะกระทำ กับหมู่กลุ่มผู้คน ก็เข้าได้ สะดวกดาย คล่องแคล่ว ไม่มีอะไรติดขัด ไม่ติดขัด ทั้งสิ่งนั้น ทำร่วมกันได้ ทั้งจิตใจ ก็ไม่มีอะไรขัดในใจ ด้วยกันเลย สอดคล้องลงตัวลงตน เห็นความเห็นตรงกัน เป็นสุด เป็นทิฏฐิสามัญญตา อย่างลงร่อง ลงช่องเลย สุดท้าย ก็เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน อย่างนี้ก็เป็นอันสุดท้าย ที่เราจะหมาย

เพราะฉะนั้น ในความหมายของคำว่า เบิกบาน สุขุม อ่อนโยน คล่องแคล่ว ๔ คำนี้ จะให้พวกเราได้จำไว้ แล้วก็รู้ความหมาย ตรงกันข้าม ที่เราจะวิจัยวิเคราะห์ เพื่อเอามาปรับตน ในแต่ละกาละ ทุกขณะ ในการปรับปรุง ในการปฏิบัติธรรม เราจะได้เป็น ผู้ที่เบิกบาน สุขุม อ่อนโยน และคล่องแคล่วยิ่งๆขึ้น จึงเชื่อว่า เราเป็นผู้ที่มีสมรรถภาพดี และเป็นผู้ที่เป็นผู้ดีน่ะ เป็นคนที่ เป็นผู้ดีด้วย ทั้งมีความสามารถดี ทำได้มาก แล้วก็ไม่ลุกลี้ลุกลน ไม่หยาบ ทุกอย่างเนียน เรียบร้อยไปหมด แล้วเราก็สดชื่น เบิกบาน แจ่มใส เป็นสุข

สิ่งที่ให้กำหนดลงไปนี้ จึงเป็นเรื่องที่ เป็นเหมือน กรรมฐาน ที่เราจะต้องการมาก ทุกวันนี้ ขณะนี้ โดยเฉพาะ ในระดับนี้ เราต้องการมาก ทุกคนสังวร แล้วปรับขึ้น ตามฐานะของตน บางคนก็ปรับขึ้น บางคนยังไม่ถึง ก็ต้องคอยไล่ขึ้นมา เราอย่าเอาของเรา ไปตีคนอื่น หรือไปเทียบกับของคนอื่น ซะทีเดียว เลยทีเดียว ไม่ได้น่ะ ของคนอื่น ก็เป็นฐานของเขา เขาดีขึ้นมากกว่าเก่า ประมาณอย่างนั้นๆ อยู่เสมอ ก็ต้องเห็นเขาให้ได้ว่า เขาปรับของเขา ขึ้นมาแล้วละนะ แต่ก่อนเขาหยาบกว่านั้น เดี๋ยวนี้ เขาก็ค่อยดีขึ้นมา สำหรับเรานั้น ก็ดีขึ้น อยู่ขนาดนี้ ก็ทรงไม่ได้ ทรงไว้อย่างเก่าไม่ได้ ต้องให้เนียน แนบเนียน ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เอาให้ชัดเจน ให้ดียอด ให้ดีจริงขึ้นไป กว่านั้นอีกให้ได้ นี้เป็นการพัฒนาตนของตน ของพวกเราน่ะ

ก็ขอกำชับกำชากัน คิดว่าพวกเราจะใส่ใจ และพากเพียร ด้วยกรรมฐานที่ว่า เบิกบาน สุขุม อ่อนโยน และ คล่องแคล่ว กันได้ทุกคน

 

สาธุ.

 

ธรรมปัจเวกขณ์ ๒๕๒๖